เกี่ยวกับ AMIS
โดย Banthita
Jun 12, 2020

โครงการวิจัย การดื้อยาต้านจุลชีพในสังคม
Anti-Microbials in Society (AMIS): a Global Interdisciplinary Research Hub


การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในมนุษย์และสัตว์มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ทั้งเพื่อการควบคุมการติดเชื้อและการเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ในการปศุสัตว์ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้นและแพร่หลายนี้ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ความพยายามที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตามการใช้ยาปฏิชีวนะนี้ถูกฝังอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานและวิถีชีวิตซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ สถาบัน และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อศึกษาหาแนวทางการแก้ไขเพื่อลดหรือละการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในบริบทที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แนวทางเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดการใช้ยาปฏิชีวนะ


การใช้ยาปฏิชีวนะและสถานการณ์เชื้อดื้อยานั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทุกมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพ ความรู้ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ และต้องการการทำความเข้าใจแบบ “สหวิทยาการ” (Multidisciplinary) ที่จะนำความรู้จากหลายสาขาวิชามาร่วมกันวิเคราะห์ปรากฏการณ์และสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมของของหลากหลายสาขาวิชานี้จำเป็นต้องมีกลไกการประสานงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานร่วมมือกันระหว่างสาขาวิชาต่างๆ


ระหว่างปี 2017-2021 สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ London School of Hygiene and Tropical Medicine สหราชอาณาจักร  Infectious Diseases Research Collaboration ประเทศยูกันดา และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนิน “โครงการวิจัยการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคม: การสร้างศูนย์กลางการทำวิจัยร่วมกันทั่วโลก (Anti-Microbials in Society (AMIS): A Global Interdisciplinary Research Hub)”


โครงการวิจัยนี้เป็นการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคมด้วยการทำความเข้าใจปัจจัยทางสังคม ชีววิทยา และทางคลินิก โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. สร้างศูนย์กลางการทำวิจัยร่วมกันในนานาชาติเพื่อการพัฒนา หาวิธีการนำไปปฏิบัติใช้ และเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังต่อไปนี้

                 1.1 เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยเพื่อให้เข้าใจมุมมองใหม่ของการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคมโดยผ่านการฝึกฝนเรียนรู้และทำงานร่วมกัน

                 1.2 เพื่อทำวิจัยที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เน้นการพัฒนาทางทฤษฎี การทำวิจัยภาคสนามและการสร้างพันธมิตรร่วมกันในหลายประเทศ

                 1.3 การเผยแพร่ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำวิจัยผ่านทางงานวิชาการ นโยบายและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

2. สร้างงานวิจัยแนวใหม่ในประเทศไทยและประเทศยูกันดา เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันและโครงสร้างพื้นฐานของคนในสังคม งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อเข้าใจมุมมองในการใช้ยาปฏิชีวนะและหาทางเลือกที่ทดแทนยาปฏิชีวนะ


ผู้สนับสนุนโครงการวิจัย

  1. Economic and Social Research Council (ESRC)
  2. Department of Health
  3. The Arts and Humanities Research Council (AHRC).
  4. Tackling Antimicrobial Resistance (AMR)
  5. Global Challenges Research Fund (GCRF)


ผลผลิตของโครงการ

สารคดีสั้น "เมื่อนักมานุษยวิทยา ถูกท้าทายจากโลกศตวรรษที่ 21" 

นำเสนอตัวอย่างทำงานของ "นักมานุษยวิทยา" ในการเสนอมุมมองและวิธีการใหม่ ๆ เพื่อการทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่แนวทางใหม่ ๆ ในด้านนโยบายและปฏิบัติการทางสังคม

https://www.youtube.com/watch?v=iLXAOC3bNTw



Featured Images

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง