เกี่ยวกับจดหมายเหตุ
โดย Admin istrator
Jun 09, 2020

ความหมายของหอจดหมายเหตุ (Archives)

หอจดหมายเหตุ (Archives) มีความหมาย ดังนี้

  1. หมายถึง เอกสารส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนผู้ผลิตขึ้นหรือรับไว้ และมีคุณค่าทางการบริหาร ทางการเงิน ทางกฎหมาย หรือเป็นพยานหลักฐานและ/หรือมีสาระเชิงประวัติและวิทยาการต่างๆ ควรเก็บรักษาตลอดไป ความหมายนี้ภาษาไทยควรใช้ว่า จดหมายเหตุ หรือ เอกสารจดหมายเหตุ
  2. หมายถึง สถาบันหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน การจัดหาหรือรับมอบ การจัดเก็บดูแลรักษา และการถ่ายทอดสาระของเอกสารไปสู่ผู้ใช้ตามหลักวิชาการ ความหมายนี้ ภาษาไทยควรใช้ว่า สถาบันจดหมายเหตุ หรือ หน่วยงานจดหมายเหตุ สำหรับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในการบริหารงานจดหมายเหตุระดับชาติของประเทศไทย คือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
  3. หมายถึง ตัวอาคารหรือส่วนของอาคารที่เป็นที่จัดตั้งหรือที่ทำการของสถาบันจดหมายเหตุหรือหน่วยงานจดหมายเหตุ ความหมายนี้ ภาษาไทยควรใช้ว่า หอจดหมายเหตุ หรือ ที่ทำการจดหมายเหตุ

ทำไมต้องมีหอจดหมายเหตุ

ระบบสุขภาพไทยมีพัฒนาการควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมไทยตั้งแต่อดีต ในระบบดั้งเดิมของสังคมสยามสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ผสมผสานวัฒนธรรมแบบพุทธ พราหมณ์ ผี และประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายใต้ระบบศักดินา ความเจ็บป่วยในราชสำนักถูกจัดการด้วยหมอหลวง ส่วนไพร่หรือสามัญชนอาศัยยากลางบ้าน หรือหมอเชลยศักดิ์ผสมผสานกับการเยียวยาตามศรัทธาความเชื่อท้องถิ่น จวบจนการเข้ามาของการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทำให้เกิดระบบบริการสุขภาพสมัยใหม่ขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าการที่การแพทย์ตะวันตกได้รับการเผยแพร่เข้าสู่สังคมไทย ควบคู่ไปกับการที่จักรวรรดินิยมตะวันตกได้กดดันและคุกคามต่อรัฐไทยในยุคนั้น ได้ก่อให้เกิดการขยายบทบาทและอำนาจของรัฐ ผลของการพัฒนาดังกล่าวนั้น ได้ทำให้การแพทย์กลายเป็นปริมณฑลของความรู้ตะวันตก ที่สำคัญได้ทำให้ระบบวิธีคิดทางการแพทย์ของสังคมไทยค่อย ๆ เปลี่ยนจากเดิมมาเป็นทัศนะการมองสุขภาพตามแผนของการแพทย์แบบชีวภาพ และทฤษฎีเชิงโรคมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับการสถาปนาขึ้นจากเดิมเป็นกรมพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2431 โดยมีภารกิจสำคัญคือ การทำนุบำรุงให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งให้การเยียวยาดูแลรักษาความเจ็บป่วยแก่ประชาชน

ตลอดเวลากว่าร้อยปีของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งด้านการก่อร่างสร้างตัวของระบบการแพทย์การสาธารณสุขไทย ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2431 โรงเรียนแพทยากร ในปี พ.ศ. 2432 โรงพยาบาลคนเสียจริต ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2432 โรงพยาบาลหญิงหาเงิน ซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลกลาง ในปี พ.ศ. 2440 หรือการก่อตั้งโรงทดลองความสุขของราษฎร (Public Health Laboratory) ในปี พ.ศ. 2444 รวมทั้งการริเริ่มระบบรายงานโรคในปี พ.ศ. 2452 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบทะเบียนประชากรในปี พ.ศ. 2460 ตลอดจนการแพร่ขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขออกสู่หัวเมือง หรือการเผชิญวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์และสาธารณสุขในระหว่างสงครามหรือการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ เช่น การเกิดอหิวาตกโรคระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทางการต้องตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นถึง 48 แห่งตามท้องถิ่นต่าง ๆ ก่อนที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงดำริให้สร้างโรงพยาบาลถาวรขึ้น หรือการระบาดของโรค Anthrax หรือโรคไข้หน่วยเม็ดที่มีขึ้นครั้งแรกที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรในปี พ.ศ. 2446 และการพบกาฬโรคระบาดที่ตึกแดง ริมฝั่งเจ้าพระยาในปีต่อมา

เหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าเป็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของระบบสุขภาพของประเทศที่ทรงคุณค่าแก่การเรียนรู้ ดังที่ปราชญ์ในทุกสังคมล้วนกล่าวยืนยันถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า การที่สังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น จำเป็นต้องทบทวน ตรึกตรอง เรียนรู้จากอดีต เหมือนดังลูกศรที่จะพุ่งออกจากคันธนูไปได้ไกลเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการรั้งลูกศรและน้าวคันธนูให้ถอยหลังกลับไปได้มากเพียงใด หรือดังวาทะของวินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้ยึดถือเป็นคติประจำใจว่า “The longer you can look backward, the further you can look forward.”

การขาดความใส่ใจและขาดการปลูกฝังคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขาดความสนใจที่จะเก็บรวบรวมเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย ในด้านการแพทย์การสาธารณสุขนั้น เอกสารสำคัญจำนวนมากสูญหายหรือถูกทำลายทิ้งไปโดยไม่รู้คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่กระทรวงสาธารณสุขย้ายจากที่ตั้งเดิมบริเวณวังเทวะเวสม์ กรุงเทพมหานคร สู่สถานที่ตั้งในปัจจุบัน เอกสารสำคัญเกิดการสูญหายหรือถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก เอกสารดังกล่าวล้วนแต่มีความสำคัญและการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งบางชิ้นอาจจะไม่มีสำเนาใด ๆ เหลืออยู่เลย นอกจากนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบบริหารจัดการมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบเรียบร้อย การรณรงค์ความสะอาดเช่น กิจกรรม 5 ส. ก็อาจเป็นผลให้เอกสารที่อาจไม่มีประโยชน์ในแง่การดำเนินงาน แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถูกกำจัดทิ้งไปโดยง่ายอีกด้วย แม้ว่าการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสำนึกทางประวัติศาสตร์จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ในช่วงที่ผ่านมาความสนใจที่จะศึกษาและเรียนรู้จากอดีตยังมีอยู่อย่างจำกัด ความรู้ทางประวัติศาสตร์สุขภาพถูกจำกัดไว้แต่ในด้านการแพทย์การสาธารณสุข ทั้งยังมีลักษณะหยุดนิ่ง โดยมีเนื้อหาที่นักการแพทย์การสาธารณสุขท่องจำเป็นประวัติศาสตร์สำเร็จรูปว่าด้วยการแพทย์และการสาธารณสุขไทยเริ่มต้นเมื่อหมอมิชชันนารี เข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตกในสยาม และมาสิ้นสุดลงที่การก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาล ความสนใจในมิติทางประวัติศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ เช่น พัฒนาการของวัฒนธรรมสุขภาพไทย ประวัติศาสตร์การแพทย์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ทางสังคมของโรคและความเจ็บป่วย ประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณสุขไทย ประวัติศาสตร์สุขภาพจากมุมมองของชาวบ้าน หรือการบันทึกชีวประวัติของบุคคลสำคัญในวงการสาธารณสุข ล้วนแต่ยังมีการดำเนินการน้อย ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพไทย เช่น การปฏิรูประบบสุขภาพ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบราชการ และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ก็จำเป็นต้องมีการศึกษา จดบันทึก และตีความในเชิงประวัติศาสตร์ในอนาคตทั้งสิ้น การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติขึ้นนับเป็นโอกาสดีใน การผลักดันให้เกิดความตระหนักในมิติทางประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพไทย

ดังนั้น สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ จึงริเริ่มจัดทำโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - 2555 เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ และจัดแสดงนิทรรศการจากเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และเป็นแหล่งให้การสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมสุขภาพ ตลอดจนให้บริการเอกสารสำคัญแก่สาธารณชน โดยมีสถานที่ชั่วคราวในการดำเนินการอยู่ที่ชั้น 3 อาคาร 10 ชั้น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ในสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งมีพื้นที่จำกัดเพียง ๒๑๖ ตารางเมตร 

เนื่องในวาระอันเป็นมงคลการเฉลิมฉลองงาน 100 ปี สาธารณสุขไทย กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้จัดทำโครงการ 100 ปี สาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461 – 2561) เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ถาวรและหอจดหมายเหตุของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา ดังนั้น สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการจึงได้เสนอให้อนุมัติจัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่จัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ ขึ้น ณ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 4 อาคารคลังพัสดุ ภายในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม 2558 ขนาดพื้นที่ประมาณ 1,622 ตารางเมตร และกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้มีการเปลี่ยนชื่อหอจดหมายเหตุฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็น หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ และได้มอบหมายให้สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพเป็นผู้กำกับดูแลรับผิดชอบโครงการก่อสร้างหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 และส่งมอบอาคารที่ปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการโดยให้หอจดหมายเหตุฯ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 


โพสต์ที่เกี่ยวข้อง