เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
โดย Admin istrator
Nov 15, 2023

ความเป็นมา

     หอประวัติศาสตร์สุขภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสุภาพไทย ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีพลวัตไปตามการเปลี่ยนผ่านด้านสังคมและการเมืองแต่ละยุคสมัย เพื่อสร้างสรรค์มุมมองวิธีคิดและแรงบันดาลใจจากประสบการณ์และความรู้หรือภูมิปัญญาจากกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์สุขภาพของสังคมไทย ด้วยการรับรู้ผ่านนิทรรศการ แนวคิดการออกแบบจึงมุ่งการสื่อสารเรื่องราว ประวัติศาสตร์และความทรงจำเกี่ยวกับสุขภาพแบบนานาสาระให้ง่ายในการทำความเข้าใจและเหมาะสมสำหรับทุกคน ซึ่งได้จัดพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖

     นิทรรศการ ชุด "๑๐๐ บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว" นำเสนอเนื้อหาในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ๑๐ โซน ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีสาระสำคัญดังนี้

     ๑.ความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียว : จักรวาลภายในและจักรวาลภายนอก

         "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" เป็นคำกล่าวของนักคิดที่อุปมาถึงความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งในจักรวาลเชื่อมโยงส่งผลถึงกันอย่างล้ำลึกเกินกว่าการรับรู้สัมผัสได้อย่างผิวเผินของมนุษย์ สะท้อนจากจารีตความรู้ในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อเรื่องจักรราศีหรืออิทธิพลของตำแหน่งแห่งที่ และการโคจรของดวงดาวที่มีผลต่อโชคชะตาวิถีชีวิตมนุษย์ มีปรากฏทั้งในคัมภีร์พระเวทของฮินดู ศาสตร์อี้จิงของจีนและตำราโหราศาสตร์ในอารยธรรมกรีกและโรมัน ชีวิตมนุษย์ไม่อาจแยกออกจากจักรวาล หรือหากกล่าวว่ามนุษย์เป็นแบบจำลองของจักรวาลก็ไม่ผิด ดูจากจักรวาลภายในของมนุษย์ตามทฤษฎีธาตุ ๔ ของไทยนั้น มีองค์ประกอบพื้นฐาน คือ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ แสดงกฎเกณฑ์และปฏิสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันกับจักรวาลภายนอก 

         ภูมิปัญญาของทุกสังคมมองเห็นถึงจักรวาลภายนอกและจักวาลภายในเชื่อมโยงเป็นข่ายใยชีวิตของสรรพสิ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของจักรวาลภายในหรือร่างกายของมนุษย์ กับจักรวาลภายนอกหรือจักรภพนี้ถูกสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายในวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินของพลังที่เรียกว่า "ปราณ" "ชี่" หรือ "เส้นประธานสิบ" ล้วนเป็นเส้นสายแห่งกายวิภาคของมนุษย์ที่ถอดรหัสความสมบูรณ์แบบมาจากจักรวาลนั่นเอง

    ๒.เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุขภาพ

         ส่วนนี้บอกเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์สุขภาพน่าสนใจและสนุกๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเคยได้ยินแต่ไม่เคยรู้ เข้าใจความเป็นมา เช่น โรงพยาบาลรักษาโรคจิตเวชแห่งแรกของไทยทำไมจึงถูกเรียกว่า "หลังคาแดง" , การค้นคว้าเรื่องวิตะมินซี เริ่มต้นมาจากที่ไหน , ทำไมคำว่า "quarantine" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง "การกักกันโรค" ที่มาจากคำว่า "quarantine giorni" ในภาษาอิตาลี ซึ่งแปลว่า "๔๐ วัน" จึงกลายเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้กันจนทุกวันนี้ไปได้ แพทย์แผนตะวันตกชาวไทยคนแรกคือใครล้วนแต่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์สุขภาพสนุกๆ ที่อาจคาดไม่ถึง

     ๓.พหุลักษณ์ทางการแพทย์ : ความหลากหลายในระบบสุขภาพไทย

         การดำรงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสุขภาพในสังคมหนึ่งๆ นั้น เป็นเพราะว่าไม่มีระบบการแพทย์ใดสามารถตอบปัญหาสุขภาพได้อย่างพร้อมมูลเพียงลำพัง สุขภาพและความเจ็บป่วยเป็นปรากฏการณ์ที่มีหลายมิติสลับซับซ้อนและเป็นพลวัตด้วยค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ต่างกัน สุขภาพจึงผันแปรไปตามวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมบรรพกาลหรือสังคมสมัยใหม่ที่มุ่งความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ตาม 

         แหล่งที่พึ่งด้านสุขภาพในสังคมไทยมีอยู่อย่างหลายหลายมาก นับตั้งแต่การมี "อโรคยาศาล" ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม "วัด" ที่เคยมีหมอพระและยาสมุนไพร "บ้าน" ของหมอพื้นบ้านที่สืบทอดภูมิปัญญาการดูแลรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย "แพโอสถศาลา" ของมิชชันนารีชาวตะวันตก, ร้านยาไทยร้านยาจีน มาจนถึงการสร้างโรงพยาบาลสมัยใหม่แบบตะวันตก, สุขศาลา, สถานีอนามัย, สหกรยา, หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เป็นต้น

     ๔.ชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ

         นิทรรศการในพื้นที่ส่วนนี้ จัดแสดงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อสะท้อนย้อนคิดถึงวิถีการบริโภคกับสุขภาพ การไหลบ่าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อิทธิพลของการผลิตแบบอุตสาหกรรมและการโฆษณา ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตและสุขภาพด้วย นำเสนอเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ทำให้เราเห็นว่า สิ่งของที่เราบริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวันล้วนมรที่มาที่ไป มีความคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ก่อนเป็นสิ่งที่เราจะมองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กรณตัวอย่างที่นำมาเสนอ ได้แก่ ที่มาของอาหารหลัก ๕ หมู่ กับนโยบายสร้างชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, โฆษณาสบู่กับความขาวสะอาดจนเรียกได้ว่า "สบู่หอมขายฝัน", การบริโภคความหวานที่เพิ่มมากขึ้นกับโรคเบาหวาน, เสื้อผ้ามีไว้ปกปิดร่างกายกับความท้าทายของแฟชั่น, รวมถึงเรื่องราวของผู้คนที่ไม่ยอมจำนนต่อการเป็นแค่ผู้บริโภค แต่ลงมือทำบางอย่างเพื่อเป็นคนกำหนดวิถีของการบริโภคด้วยตนเอง จนสังคมยอมรับว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ชวนให้คิดว่าพื้นฐานความต้องการของมนุษย์นั้นพอเพียงและไม่เพียงพอ มีที่มาที่น่ารู้

     

     ๕.ภูมิปัญญาสุขภาพและการแพทย์ไทยสืบทอดไว้ก่อนสาบสูญ

         นิทรรศการในพื้นที่นี้ นำเสนอเรื่องราวของบรรดาหมอไทยทั้งหมอแผนไทยและหมอพื้นบ้าน ผู้เคยมีบทบาทเป็นที่พึ่งของคนไทยเมื่ออายุมากขึ้นก็ค่อยๆ สูญหายไป ดังเช่น เรื่องราวของหมอเพ็ชรหมอพลอย แห่งตระกูลแพทยานนท์ หมอหลวงตระกูลสุดท้ายที่สิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่ ๖, หมอพระอย่างท่านพระครูอุปการพัฒนกิจ หรือ หลวงพ่อสมัยแห่งวัดหนองหญ้านาง จ.อุทัยธานี, หมอตำแยคนสุดท้ายแห่งเมืองชาละวัน จ.พิจิตร คุณยายเนียม อินปรางค์ หรือหมอตำแยคนสุดท้ายแห่งบ้านสามโคก จ.ปทุมธานี ที่เสียชีวิตไปหมดแล้ว เป็นต้น

     ๖.การแพทย์ ในสถานการณ์วิกฤต

         นิทรรศการในส่วนนี้ จัดแสดงเรื่องราวของการตอบสนองของมนุษย์ในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ผ่านปรากฏการณ์ด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น กรณีเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่า จ.นครราชสีมา ถล่ม จนทำให้คณะแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัดด่วนเพื่อช่วยชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพัง, ท่านรู้จักเหรียญปราบอหิวาตกโรคในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่?, หมู่บ้านขาขาด ที่ ต.ภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ กับชะตากรรมคนชายแดนที่ยังทนทุกข์จากความพิการอันเนื่องมาจากกับระเบิดตกค้างจากสงครามเมื่อ ๒๐-๓๐ ปี่ก่อน เป็นต้น

    ๗.สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

         จริงหรือที่ว่า โลกของความจริงมีแต่เฉพาะสิ่งที่เราจับต้องได้หรือว่าโลกนี้ยังมีคุณค่า ความงาม และความหมายที่ดำรงอยู่คู่กับโลกแห่งวัตถุ

         จริงหรือว่า ชีวิตเป็นแค่ปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เป็นไปตามกฎทางวิทยาศาสตร์ หรือว่าเราลืมเลือนไปแล้วว่ามนุษย์สามารถบรรลุถึงซึ่งความดี ความงาม และความจริง และมีศักยภาพสูงสุดที่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ ความคับข้องเคืองเข็ญ ไปสู่ความสุขสงบและสันติร่วมกันได้

         อะไรกันแน่ที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร การเข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดคือหนทางแห่งความหลุดพ้นหรือวิถีแห่งการเป็นมนุษย์ที่แท้นั้นเล่าเป็นฉันใด คำถามเหล่านี้ปรากฏในทุกจารีตภูมิปัญญา ทุกศาสนาและวัฒนธรรม เป็นคำถามซ้ำที่ยังต้องถามแล้วถามอีก รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ใช่เพราะไม่เคยมีใครค้นพบคำตอบ แต่เป็นเพราะว่าทุกคนต้องค้นหาคำตอบนั้นด้วยตนเอง 

         นิทรรศการโซนนี้ ขอต้อนรับสู่การเดินทางอีกครั้ง เพื่อค้นหาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เพื่อเป็นการทดลองตอบคำถามเหล่านี้ นิทรรศการในส่วนนี้จึงเป็นความพยายามในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าชมได้มีโอกาส ใช้เวลาทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมในชีวิตของเราเพื่อตอบคำถามข้างต้น

     ๘.รอยเวลา เส้นทางสุขภาพไทย

         ส่วนนี้ จัดแสดงเส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย (Time Line) จำนวน ๑๐๐ เหตุการณ์ โดยคัดเลือกเรื่องราวของบุคคล ความคิด สิ่งของ และเหตุการณ์สำคัญๆ และนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญหรือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เช่น การริเริ่มการแพทย์แต่ละด้าน หรือการค้นคิดนวัตกรรมต่างๆ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย การจัดตั้งองค์กรทางสาธารณสุข รวมถึงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมไทย เช่น โรคระบาดครั้งสำคัญ การเกิดขึ้นของสุขาภิบาล การริเริ่มออกกฎหมายการแพทย์หรืการสาธารณสุข เป็นต้น

     ๙.ความตายและวาระสุดท้ายของชีวิต

         นิทรรศการส่วนนี้ ได้รวบรวมเรื่องราวคติความเชื่อเรื่องความตายวัฒนธรรมเกี่ยวกับความตายและการตาย รูปแบบการระลึกถึงผู้ที่จากไปตลอดจนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องของกลุ่มชนต่างๆ ไปจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ในเรื่องการตายของสังคมไทย อาทิ การมรณภาพของท่านพุทธทาสภิกขุ จนนำไปสู่ข้อทกเถียงทางสังคมถึงสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาของคนป่วยและญาติ และตัวอย่างการตายอย่างสงบที่บ้านของคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ อย่างสุขใจ

     ๑๐.สุขภาพกับสังคม

           นิทรรศการส่วนนี้ จัดแสดงเรื่องราวความเคลื่อนไหวสร้างสุขภาวะของเครือข่ายภาคีต่างๆ ในสังคมไทยโดยการผลักดันและใช้กลไกทางสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อาทิ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ และธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ จากกรณีความเดือดร้อนของชาวมาบตาพุด การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความหมายและคุณค่าชีวิตที่มีความหวังของกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือ กรณี CL ยา รวมถึงการเกิดขึ้นขององค์กรเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่รู้จักกันดีคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น

         


โพสต์ที่เกี่ยวข้อง