หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2489 พระราชกรณียกิจในระยะแรกเกือบทั้งหมดล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและการพัฒนาสุขภาพของประชาชนทั้งสิ้น นับตั้งแต่การพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ให้กับสมาคมการต่อต้านวัณโรคแห่งประเทศไทยใช้ในการหาทุนของทางสมาคมใน พ.ศ. 2489 รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ขึ้นให้กับสภากาชาดไทย เพื่อพัฒนาวัคซีนวัณโรคด้วยในปี พ.ศ.2493
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงสนับสนุนการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อน โดยการก่อตั้งราชประชาสมาสัยขึ้นด้วยทุนสนับสนุนส่วนพระองค์ ในด้านการสร้างโรงพยาบาล พระองค์ได้ทรงริเริ่มการหาทุนเพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ซึ่งได้มีการนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่เสด็จไปในสถานที่ต่างๆ ออกฉายเพื่อหารายได้มาสร้างโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น อาคารผู้ป่วย โรงพยาบาลแพร่ อาคาร “ราชสาทิส” โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี อาคารวิจัยประสาทวิทยา โรงพยาบาลประสาท พญาไท อาคารราชประชานุสรณ์ โรงพยาบาลปราจีนบุรี และอาคารราชทัย โรงพยาบาลบุรีรัมย์
แม้จะมีการสร้างโรงพยาบาลแต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอสำหรับการรองรับประชาชนที่ต้องเดินทางมาจากถิ่นที่ไกล ๆ พระองค์จึงริเริ่มเรื่องหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นในปี พ.ศ.2510 โดยนำแพทย์ไปให้การรักษาถึงท้องถิ่นที่ห่างไกลนั้นๆ มีการก่อตั้งโครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทานออกตรวจรักษาราษฎรจนเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “แพทย์พระราชทาน” และกลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดอาสาสมัครและการทำงานเพื่อมนุษยธรรมในวงการแพทย์ ซึ่งต่อมามีทั้ง ศัลยแพทย์อาสา ทันตแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ภารกิจด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นทำให้จิตวิญญาณของการเป็นอาสาสมัครได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านมนุษยธรรมของวงการแพทย์ในระยะต่อมา
พระองค์ทรงให้ความสำคัญและตระหนักใส่ใจในการสร้างสุขภาพและปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชน เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว การเล่นกีฬา เห็นได้จากพระราชดำรัสที่ว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง” พระองค์ได้วางรากฐาน "สังคมสุขภาวะ" ไว้ให้กับประเทศไทย ภารกิจที่ทรงดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้เป็นอย่างมากในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
ซึ่งแรงบันดาลเหล่านี้เป็นพลังสำคัญในการที่จะให้ผู้คนได้เรียนรู้และสร้างสรรค์สุขภาวะจากต้นแบบของพระองค์ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาซึ่งความเศร้าโศก เสียใจ และอาลัยของพสกนิกร ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นเวลาที่สำคัญที่จะรวบรวมผลงานต่าง ๆ ของพระองค์และเก็บบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวและการบอกเล่าประสบการณ์ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
2.เพื่อรวบรวมผลงานด้านการสาธารณสุขที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ริเริ่มขึ้น ให้เป็นหมวดหมู่ รวมทั้งมีการเก็บข้อมูล ภาพถ่าย ความทรงจำส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง
3.เพื่อศึกษาผลกระทบในด้านอารมณ์และปฏิกิริยาทางสังคมที่มีต่อการสูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนาน
4.เพื่อศึกษารูปแบบทางวัฒนธรรมและการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะของความเศร้าโศกเสียใจ (grief) ความอาดูรจากการสูญเสีย (bereavement) และการไว้ทุกข์ (Mourning) ที่เกิดขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
5.เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตทางอารมณ์ (Emotional life) การปรับตัวของสังคมไทยและบทบาทของรัฐและสื่อมวลชนที่มีต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน
แนวทางการดำเนินงาน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ โครงการนี้แบ่งแนวทางการดำเนินงานเป็น ๖ เรื่อง ได้แก่
1.การเก็บบันทึกภาพถ่ายเรื่องราว เหตุการณ์การแสดงความอาลัยของประชาชนที่มีต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่วันสวรรคตจนถึงช่วงครบ ๑๐๐ วัน โดยช่างภาพมืออาชีพ
2.การศึกษาเรื่องราวชีวิตและความทรงจำของประชาชนที่มาร่วมแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคำบอกเล่า (Personal story) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นการเก็บรวบรวมเรื่องเล่าของบุคคลที่หนึ่ง (First person narrative) ที่บ่งบอกถึงการให้ความหมายต่อเหตุการณ์การสูญเสียในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นความผูกพันส่วนบุคคลจากความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ หรือความทรงจำของตนเอง
3.การศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative investigation) เพื่อให้ทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในภาวะหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการสำรวจ (Survey) ด้านการรับรู้ ความผูกพัน และสิ่งที่เป็นบทเรียนจากในหลวง
4.การศึกษาประสบการณ์ ความทรงจำและความผูกพันที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนผ่านของความผูกพัน ผลกระทบทางอารมณ์และการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเรื่องราวความรู้สึกผูกพันและการเศร้าโศกเสียใจ (Narrative and Social Response to Grieving and Moaning) การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นเรื่องเล่าความทรงจำเกี่ยวกับในหลวง เหตุการณ์หรือสิ่งที่ในหลวงมีผลกระทบต่อชีวิตมากที่สุด การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการประชวรและการสวรรคต สิ่งที่คิด สิ่งที่ทำหลังได้ข่าว และสิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไป เพื่อให้ได้เรื่องราวที่เห็นเป็นรูปธรรม
5.การจัดทำหนังสือ จำนวน ๒ เล่ม ดังนี้
5.1 สมุดภาพถ่ายเรื่องราว เหตุการณ์การแสดงความอาลัยของประชาชนที่มีต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
5.2 หนังสือ “แผ่นดินวิปโยค” Mourning Nation: Grief, Bereavement and the End of an Era in Thailand แผ่นดินวิปโยค วัฒนธรรมความเศร้าโศกและการสูญเสียในสังคมไทย
6.การเก็บบันทึกภาพถ่ายวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องราว เหตุการณ์ การแสดงความอาลัยของประชาชนที่มีต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่วันสวรรคตจนถึงช่วงครบ ๑๐๐ วัน