ผลจากการค้นคว้าศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติรวม 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อยุธยา นครปฐม สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต การได้ลงพื้นที่ศึกษาประสบการณ์การเผชิญกับภัยพิบัติของชุมชนที่หลากหลาย รวมทั้งเรียนรู้แนวทางการจัดการภัยพิบัติของหน่วยงาน องค์กร และชุมชนทำให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือและพลังการฟื้นตัวของชุมชนที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างชัดเจน
หนังสือ “เครื่องมือภัยพิบัติชุมชน” นี้นำเสนอเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน โดยสามารถใช้ประกอบกับคู่มือการเตรียมความพร้อมชุมชนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ
ส่วนที่ 1 นำเสนอและอธิบายแนวคิดหลักเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เป็นรากฐานของเครื่องมือชุมชน ได้แก่ แนวคิดเรื่องพลังการฟื้นตัวชุมชน (Community resilience) แนวคิดนิเวศวัฒนธรรม (Cultural ecology) แนวคิดทุนชุมชน (Community assets) และแนวคิดการจัดการภัยพิบัติชุมชน (Community based disaster management) แนวคิดแต่ละเรื่องจะมีการอธิบายที่มา หลักคิด จุดแข็งจุดอ่อน และตัวอย่างรูปธรรมจากชุมชนที่จะช่วยให้เข้าใจแนวคิดเชิงนามธรรมได้ดีขึ้น
ส่วนที่ 2 นำเสนอเครื่องมือชุมชนรวม 9 ชิ้น โดยเครื่องมือแต่ละชิ้นจะมีจุดเด่นที่สามารถเข้าถึงและค้นหาความเข้าใจในแต่ละมิติภัยพิบัติชุมชน แบ่งออกเป็นชุดของเครื่องมือ ดังนี้
1. ผังประวัติศาสตร์ภัยพิบัติชุมชน
2. แผนที่ชุมชนรับมือภัยพิบัติ
3. ผังเครือญาติ
4. ผังเครือข่ายและองค์กรชุมชน
5. ระบบสื่อสารชุมชน
6. ปฏิทินชุมชน ปฏิทินภัยพิบัติ
7. ตารางทุนชุมชน
8. ระบบสุขภาพและการแพทย์ฉุกเฉิน
9. เรื่องเล่าภัยพิบัติ
สนับสนุนการผลิตโดย
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก “แผนงานการจัดการทางด้านภัยพิบัติ”
Multi-stakeholder Approach to Royal Thai Government (RTG) - World Health Organization (WHO)
Collaboration Thematic Area “Disaster Management”
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
โดย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขศาลา (Suksala Books)