แผนงาน : วัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ
การสร้างความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์และการสาธารณสุขเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาศัยระเบียบวิธีการศึกษาด้าน “ระบาดวิทยา” (Epidemiology) ซึ่งมุ่งเน้นที่การศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรค การกระจายตัวของโรค และแบบแผนการเกิดโรคในกลุ่มประชากรต่างๆ โดยอาศัยเทคนิคการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคยังถูกกำกับไว้ด้วยเงื่อนไขและแบบแผนทางสังคมวัฒนธรรม บริบทประวัติศาสตร์ และความทรงจำร่วมของคนในท้องถิ่นที่มีต่อประสบการณ์ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้นในชุมชน และจำเป็นต้องอาศัยระเบียบวิธีการศึกษาในลักษณะสหสาขาวิชา (Interdisciplinary approach)
แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพแบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 3 แนวทาง คือ การสร้างความรู้ การสร้างคน และการสร้างชุมชนวิชาการ ผ่านกระบวนการทบทวนสถานะองค์ความรู้และการศึกษากรณีศึกษาระยะยาว เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางสังคมวัฒนธรรมของความเสี่ยงกับประเด็นสุขภาพ 7 ประเด็น คือ สุรา บุหรี่ ยาเสพติด อุบัติเหตุ โรคในกลุ่ม NCDs การพนัน และภัยพิบัติ
รวมทั้งสร้างพื้นที่และเครือข่ายทางวิชาการที่เชื่อมโยงกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการส่วนกลางกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น การจัดประชุมสัมมนาวิชาการ การจัดอบรมแนวคิดทฤษฎี ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาและขยายองค์ความรู้มิติทางสังคมวัฒนธรรมของปัจจัยเสี่ยงและมุมมองระบาดวิทยาวัฒนธรรม เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อแนวคิดทฤษฎีดังกล่าว พร้อมทั้งประยุกต์องค์ความรู้ที่ได้สร้างมาตรการเชิงนโยบาย และเปิดมุมมองใหม่การทำงานประเด็นความเสี่ยงกับพฤติกรรมสุขภาพ
** ติดตามกิจกรรมของโครงการได้ที่ Facebook: Culture and Health Risk
** อ่านรายละเอียดของโครงการในรูปแบบ Booklet วัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ
หมายเลขอ้างอิง
N/A
ผลการวิจัยและการเผยแพร่
N/A