แผนงาน : งานบันดาลใจ Inspiration at Work
“ถ้าอยากไปได้เร็ว ให้ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปได้ไกล ต้องไปด้วยกัน”
If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.
ระบบบริการสุขภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายของการบำบัดเยียวยาความทุกข์ของผู้คน ได้กลายเป็นระบบงานที่สร้างความทุกข์ให้กับทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ภาวะดังกล่าวนอกจากจะเกิดจากภาระงานที่หนักอึ้งแล้ว ยังเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานและระบบงานที่สร้างความแปลกแยกต่องาน คนทำงานไม่เห็นคุณค่าของงาน และไม่สามารถแสวงหาความหมายของชีวิตจากการทำงานได้ โดยเฉพาะในระบบงานราชการหรือระบบงานขนาดใหญ่ที่เน้นการวัดผลและประเมินประสิทธิภาพในเชิงปริมาณแต่เพียงด้านเดียว ในระบบงานดังกล่าว นอกจากจะไม่สามารถสร้างสุขภาวะในองค์กรได้แล้ว ความทุกข์ของผู้ให้บริการยังมีผลโดยตรงต่อผู้รับบริการอีกด้วย สภาพเช่นนี้ขัดแย้งอย่างยิ่งกับแนวคิดการสร้างโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoting Hospital) และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบบบริการที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare)
การสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย ตั้งแต่การอบรมคุณธรรมจริยธรรม การปลีกตัวออกจากการทำงานเพื่อไปเข้าหลักสูตรปฏิบัติธรรมภาวนาต่างๆ การเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆ มากมายมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม แนวทางต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเฉพาะในกลุ่มที่ตื่นตัวในทางจิตภาวนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อีกทั้งกระบวนการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณมักมีลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและยากต่อการประเมินผล
แผนงานสุขภาวะทางจิตวิญญาณนี้เน้นไปที่การเติบโตทางปัญญา หรือทางจิตวิญญาณผ่านการทำงาน โดยถือว่า การเติบโตงอกงามในทางจิตวิญญาณนั้น แยกไม่ออกจากชีวิตการทำงาน เพราะงานเป็นทั้งเครื่องขัดเกลามนุษย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เติบโตเต็มศักยภาพของตนได้ นอกจากนั้น งานยังเป็น “ประสบการณ์ตรง” ที่มนุษย์จะได้ค้นพบและหล่อเลี้ยง “ความเป็นมนุษย์” ให้งอกงามได้ ความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้ เป็น “ศักยภาพ” “ปฏิบัติการ” และ “กระบวนการ” มากกว่า “สภาวะ” เพราะสามารถเติบโตงอกงามได้
ในแง่นี้ วิถีแห่งการทำงานจึงเป็นวิถีของการเติบโตทางจิตวิญญาณ และงานที่จะสร้างสรรค์จิตวิญญาณของมนุษย์ให้งอกงามได้นั้น จึงเรียก “งานบันดาลใจ”
วัตถุประสงค์
1. มุ่งที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ที่ทำให้การสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณในที่ทำงาน (Spirituality in workplace) มีรูปธรรมการทำงานที่ชัดเจน ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ วัดผลได้ และสามารถนำไปปรับใช้หรือขยายผล
2. มีหัวใจสำคัญของการทำงาน คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อเลี้ยงและตอกย้ำการเคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรี และศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่จะเติบโตไปกับการทุ่มเททำงานตามอุดมคติและความใฝ่ฝัน
3. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเกิดปีติสุขจากงานที่ทำอย่างประณีตใส่ใจและเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคม
4. ใช้การทำงานเป็นหนทางแห่งการเรียนรู้ งอกงาม และเติบโตไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะร่วมกัน
เป้าหมาย
1. สร้างองค์ความรู้อันเป็นรากฐานของการทำงานและสร้างชุดความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานเพื่อสร้างวัฒนธรรมในการทำงานในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
2. สร้างพื้นที่การเรียนรู้โดยผลักดันให้เกิดองค์กรต้นแบบและการสร้างสื่อ เครื่องมือการทำงาน และรูปแบบกระบวนการทำงานที่สามารถสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ละเอียดอ่อนต่อมิติความเป็นมนุษย์
3. สร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณและมิติความเป็นมนุษย์ในที่ทำงาน
4. สร้างระบบการจัดตั้งที่เข้มแข็งด้วยการพัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเครือข่ายความร่วมมือที่มีอุดมคติและความมุ่งมั่นร่วมกัน เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนในอนาคต
วิสัยทัศน์
สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ให้งอกงาม เชิดชูคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคน เชื่อมั่นและเคารพในศักยภาพที่จะเรียนรู้ งอกงาม และเติบโตไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะร่วมกัน
พันธกิจ
ขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานด้วยการสร้างและส่งเสริมรูปธรรมการปฏิบัติที่สามารถเรียนรู้และปรับใช้ได้ในบริบทการทำงานจริงควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายและผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืนในระยะยาว
พันธกิจที่ 1 จัดการความรู้
พันธกิจที่ 2 สร้างองค์กรต้นแบบ
พันธกิจที่ 3 สร้างสรรค์สื่อ เครื่องมือ และกระบวนการ
พันธกิจที่ 4 สร้างเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคม
พันธกิจที่ 5 สร้างระบบจัดการใหม่เพื่อความยั่งยืน
หมายเลขอ้างอิง
N/A
ผลการวิจัยและการเผยแพร่
N/A