ศุกร์เสวนาคือห้องเรียนปรัชญา ทฤษฎี และแนวคิดทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป และที่เน้นเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์การแพทย์และมานุษยวิทยาทางการแพทย์ของ กลุ่มคนที่สนใจศึกษาวิจัยทางด้านนี้ ประกอบด้วยนักศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านสังคมและสุขภาพประมาณ 20-30 คน มีการประชุมทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอกันทุกวันศุกร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2546-ปัจจุบัน การประชุมวิชาการที่ผ่านมาทุกวันศุกร์จะสัมมนาและอภิปรายกันในเรื่องทฤษฎี แนวคิด และวิธีวิทยาในการศึกษาด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ผ่านการอ่านและถกเถียงชิ้น งานสำคัญในการศึกษาด้านนี้ โดยเฉพาะในวันศุกร์ที่สามของทุกเดือนที่เรียกกันว่า Journal Club จะเน้นหนักในการนำเสนอและถกเถียงปรัชญาและทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานสำคัญของงาน ด้านนี้ในแต่ละสำนักคิดอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งผลิตเอกสารประกอบการสัมมนาขึ้นเป็นเอกสารอ้างอิงเอาไว้ด้วย
ประวัติศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขไทยเป็นเรื่องที่มีการศึกษาน้อยมาก มีสถานะความรู้หยุดนิ่ง มีทัศนะสำเร็จรูปที่ถือว่าประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยเริ่มต้นเมื่อหมอมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตกในสยามและมาสิ้นสุดลงที่การก่อตั้งโรงศิริราชพยาบาล ความสนใจในมิติทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ เช่น พัฒนาการของระบบสาธารณสุขไทย ประวัติศาสตร์ทางสังคมของโรค ประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณสุขไทย ประวัติศาสตร์จากมุมมองของชาวบ้าน ยิ่งประวัติศาสตร์วิธีคิดที่เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องสุขภาพและการแพทย์มีการศึกษาน้อยมาก
กระแสการพัฒนาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการบริโภคและแก่งแย่งแข่งขันในทางวัตถุจนลืมความเป็นมนุษย์ บูชาเทคโนโลยีและความทันสมัยจนดูถูกคุณค่าความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่น การแก้ปัญหาสังคมจึงขาดความอ่อนโยนต่อชีวิตและขาดความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ทำให้ครอบครัวล้มเหลวและชุมชนล่มสลาย ระบบสุขภาพที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยวิธีคิดดังกล่าว จึงมีการแก้ปัญหาแบบแยกส่วนและลดทอนปัญหาสุขภาพให้เป็นแค่เรื่องความผิดปกติของอวัยวะ
การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ผ่านมาได้เน้นหนักใน เรื่องการประยุกต์ใช้และการจัดการเทคโนโลยีทางการแพทย์ภายใต้บริบทของการ ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อสร้างหลักประกันบริการสุขภาพถ้วนหน้า การพัฒนาคุณภาพของระบบบริการทั้งระบบจำเป็นต้องมีการปรับแนวคิดและกระบวน ทัศน์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ระบบบริการมีความละเอียดอ่อนต่อมิติทาง สังคม วัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์
การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในสังคมไทยที่ ผ่านมาเป็นการศึกษาที่เนื้อหามีลักษณะของความรู้ที่สำเร็จรูป ฝึกฝนเทคนิคการใช้เครื่องมือให้เป็น มีแนวโน้มการผลิตแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขาดการหยั่งรู้ถึงรากฐานวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่จะ ทำให้รู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงระบบคิดของวิทยาศาสตร์ ในปรากฏการณ์ และปัญหาต่าง ๆ ขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการปฏิรูป ทั้งระบบการเมือง และระบบสุขภาพ หัวใจสำคัญของการวางรากฐานการปฏิรูปคือ การเข้าใจและรู้เท่าทันระบบวิธีคิดต่าง ๆ จึงต้องมีการสร้างองค์ความรู้ เพื่อความเข้าใจวิธีคิดที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยเฉพาะกระบวนทัศน์สุขภาพใหม่ใน สังคมไทย และต้องสร้างกลไกที่จะเชื่อมโยงนักคิด นักปรัชญา และนักวิชาการหลากหลายสาขาในการมาร่วมขบคิดประเด็นปัญหาและการเลือกใช้วิธี คิดต่าง ๆ ได้อย่างสมประโยชน์
แผนงานด้านสุขภาพภาคประชาชนได้ให้ความสนใจต่อการ วิจัยที่สำคัญสองด้านด้วยกัน คือการวิจัยเกี่ยวกับระบบสุขภาพภาคประชาชนซึ่งให้ความหมายในแง่ที่เป็นระบบ การดูแลสุขภาพของปัจเจก ครอบครัว และชุมชนที่ไม่ได้พึ่งพาอาศัยภาควิชาชีพ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างถูกต้อง มีดุลยภาพ มีทางเลือกที่ช่วยให้หลีกพ้นความเสี่ยงหรือเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความเจ็บ ป่วย รวมทั้งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาสุขภาพ โดยอาศัยการผสมผสานระบบการแพทย์ที่หลากหลายที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้ และอีกด้านหนึ่งคือ การวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการ เชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ในสังคมมาร่วมกันกำหนดธรรมนูญสุขภาพของสังคมไทย ประเด็นสุขภาพจึงกลายเป็นวาระทางสังคมของประชาคมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นรูปธรรมการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่น่าสนใจ เกิดมิติใหม่ของระบบสุขภาพที่มีฐานรากมาจากภาคประชาชน และยังท้าทายความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีประชาสังคมที่มีรากฐานจากสังคม ตะวันตกอีกด้วย การศึกษาให้เข้าใจถึงความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในบริบทสังคมไทยเองจะ เป็นการสร้างความรู้และทฤษฎีทางสังคมที่เชื่อมโยงกับรูปธรรมที่เป็นจริงใน สังคมไทย
กระแสความตื่นตัวในเรื่องการตายอย่างสันติเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับความตระหนักถึงข้อจำกัดของกระบวนทัศน์กระแสหลักและความจำเป็นใน การปรับกระบวนทัศน์ ที่จะทำให้มิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม และมิติทางจิตวิญญาณกลับมีความสำคัญขึ้นมา การปรับกระบวนทัศน์เรื่องความตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ด้านสุขภาพที่มองชีวิตและสุขภาพเชื่อมโยงไปสู่ปัญญาทางศาสนธรรมหรือมิติทาง จิตวิญญาณ
ความเปลี่ยนแปลงในระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิด ขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระบบการให้บริการทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข นับตั้งแต่มีนโยบายการปฏิรูประบบสุขภาพ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แม้ส่วนหนึ่งส่งผลดีที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมวงกว้าง แต่ในอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในระดับองค์กร รวมไปถึงการให้บริการกับประชาชน
โครงการวิจัย “การใช้ยาต้านจุลชีพในสังคม”(Anti-Microbials In Society (AMIS): A Global Interdisciplinary Research Hub)
การพัฒนาคุณภาพกำลังคนเพื่อสนับสนุนการนำนโยบายกัญชาทางการแพทย์สู่การปฏิบัติเป็นรายงานวิจัยเกี่ยวกับการนำนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขไปสู่การปฏิบัติในโรงพยาบาล และได้แนวทางการพัฒนาคุณภาพกำลังคน เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์บรรลุผลลัพธ์ที่พึงประสงค์